ผลงานที่สำคัญ ของ อัลโฟนส์ มูคา

งานโปสเตอร์

ภาพ Gismonda วาดให้แก่ซารา แบร์นาร์ต

Gismonda

ภาพ Gismonda วาดให้แก่ซารา แบร์นาร์ต ในปี ค.ศ. 1894 ภาพนี้เป็นผลงานโปสเตอร์ชิ้นแรกของมูคาและเป็นผลงานที่เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตเขาให้กลายเป็นศิลปินผู้โด่งดังในกรุงปารีสเพียงชั่วข้ามคืน ถือเป็นยุคทองแห่งภาพโปสเตอร์ที่ส่งอิทธิพลให้กับศิลปะแนวนวศิลป์ต่อไป[18]

ภาพนี้ได้แสดงออกถึงการสร้างสรรค์เอกลักษณ์เฉพาะตัวของมูคาเอง ซึ่งได้ผสมผสานสีและลายเส้นเข้าด้วยกันอย่างลงตัวแตกต่างจากภาพโปสเตอร์ทั่ว ๆ ไปอย่างชัดเจน ภาพนี้มูคาน่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากสภาพแวดล้อมโดยรวมของเขาเอง ที่ออกแบบจากประสบการณ์เพื่อพัฒนาผลงานให้มีความชัดเจน โดยแสดงบุคลิกส่วนตัวของ Sarah Bernhardt ในมุมมองของเขา แล้วนำเธอเข้ากับภาพฉากละครที่อ่อนไหว ซึ่งมูคานำมาพรรณนาเป็นภาพระหว่างทางที่เธอเดินไปโบสถ์ ในบรรยากาศยุคศิลปะไบแซนไทน์ สื่อความหมายว่านางเอกละคร Sarah Bernhardt บนเวทีนั้นเป็นผู้เคร่งศาสนาไม่ได้เป็นแค่ผู้หญิงธรรมดา และเธอยังเป็นสัญลักษณ์ของความฝันที่ไม่มีทางเข้าถึงได้ ภาพโปสเตอร์ของเขาได้ช่วยเสริมสร้างงานละครของนางเอกละครผู้โด่งดังอย่างลงตัว เป็นสื่อสัมผัสถึงอารมณ์ของละครคลาสสิกของฝรั่งเศส ผสมผสานกับความเป็นตะวันออกและความลึกลับไม่ธรรมดาของละคร[19]

The Seasons (series) (1896)

WinterSummerSpringAutumn
The Seasons (series) (1896) - WinterThe Seasons (series) (1896) - SummerThe Seasons (series) (1896) - SpringThe Seasons (series) (1896) - Autumn

The Seasons (series) (1896) คือผลงานตกแต่งผนังชุดแรกที่กลายเป็นหนึ่งในชุดผลงานที่มีชื่อเสียงของเขา เป็นงานที่ได้รับมอบหมายจากโรงพิมพ์ Champenois ให้ผลิตงานออกมาอย่างน้อยสองชุดโดยให้อยู่ในธีมเดียวกันในปี ค.ศ. 1897 และ 1900[20]

แนวคิดที่ปรากฏออกมาจาก The Seasons ไม่มีอะไรแปลกใหม่ เพราะสามารถเห็นได้จากงานชิ้นสำคัญเก่า ๆ ของเขาในสื่อสิ่งพิมพ์อื่น อย่างไรก็ตามภาพชุดนี้เป็นเหมือนนำความงามของสตรีแบบกรีกโรมันที่ดูคลาสสิกเข้ามาผสมผสานกับความเป็นชนบท ซึ่งสิ่งที่แสดงในภาพทั้งสี่ช่องนี้ มูคาได้นำอารมณ์และความรู้สึกของแต่ละฤดูกาลไม่ว่าจะเป็นความบริสุทธิ์ในฤดูในไม้ผลิ (Spring) ฤดูร้อนที่อบอ้าว (Summer) ฤดูใบไม้ร่วงที่เต็มไปด้วยผลไม้ (Autumn) และฤดูหนาวที่หนาวจัด (Winter) ลงไปในภาพพร้อมกับสื่อถึงวัฏจักรของธรรมชาติที่เวียนไปเรื่อย ๆ ได้อย่างกลมกลืน และด้วยองค์ประกอบที่มีความเรียบง่ายแบนราบชวนให้นึกถึงเทคนิคแกะไม้ (Woodcut) ของญี่ปุ่น อันเป็นการเผยให้เห็นถึงการนำงานศิลปะญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้[21]

งานด้านการออกแบบตกแต่ง

Head of a GirlStained-glass Window designed
ภาพเครื่องประดับ Head of a girl ผลงานของอัลโฟนส์ มูคาภาพ Stained-glass Window designed at St. Vitus Cathedral, Prague

Head of a Girl

เครื่องประดับ Head of a Girl เป็นรูปปั้นหญิงสาวครึ่งตัว มูคาทำขึ้นเพื่อจัดแสดงในงานนิทรรศการนานาชาติ กรุงปารีสในปี ค.ศ. 1900 เป็นรูปปั้นที่รับแรงบันดาลใจประติมากรรมในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) แต่เลือกวัสดุเงินและเทคนิคการปิดทองที่ทันสมัยเพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับรูปปั้น[22] ถึงแม้ไม่ทราบแน่นอนว่ามูคาต้องการบรรยายถึงซารา แบร์นาร์ต หรือ Cleo de Merode แต่รูปแบบนั้นสะท้อนการออกแบบอย่างชาญฉลาด ด้วยการทำผมยาว เปิดหน้าด้วยผมที่ม้วน ร่างกายเปล่าเปลือย เสมือนรูปร่างเป็นรูปกรวย ให้ความหมายที่ลึกลับ ยากที่จะหยั่งถึง เป็นอีกหนึ่งผลงานชิ้นเอกด้านการประดับตกแต่งงานปั้นของมูคา[23]

Stained-glass Window designed

ขณะที่งานเฉลิมฉลองครบรอบพันปีของวาตสลัฟที่ 1 ดุ๊กแห่งโบฮีเมีย (St. Wenceslas) ได้มีการให้ฟื้นฟูงานกอทิกของมหาวิหารเซนต์วิตัส (St. Vitas Cathedral) แห่งปรากจนเสร็จสิ้นในปี ค.ศ. 1929 โดยหน้าต่างประดับกระจกสีนี้ได้ถูกติดตั้งในปี ค.ศ. 1931 ซึ่งหน้าต่างจะมีภาพเซนต์วาสลัฟในวัยเด็กกับคุณยายของเขาอยู่ใจกลางภาพแวดล้อมไปด้วยฉากเหตการณ์ของนักบุญซีริล (Saints Cyril) และเมโทดิอุส (Methodius) ที่เผยแพร่ศาสนาคริสต์อยู่ท่ามกลางชาวสลาฟ ซึ่งนี้จะอยู่ด้านล่างของเยซูคริสต์เสมอ และเป็นสัญลักษณ์ของธนาคารชาวสลาฟที่ให้การสนับสนุนเงินทุนในการสร้างหน้าต่างประดับกระจกสีนี้[24]

ผลงานหนังสือ

ปกหนังสือ Documents Decorativesปกหนังสือ Figures-Decoratives
ปกหนังสือ Documents Decorativesปกหนังสือ Figures-Decoratives

หนังสือ Documents Decoratives

หนังสือที่มูคาจัดทำตั้งแต่ปี ค.ศ. 1900 ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1902 มีเนื้อหาเกี่ยวกับนวศิลป์ หนังสือจัดทำคล้ายกับเป็นสารานุกรมของงานประดับตกแต่งของมูคา เป็นการรวบรวมผลงานออกแบบตั้งแต่เริ่มจนกระทั่งขั้นออกมาเป็นผลงาน สะท้อนให้เห็นว่า ผลงานของเขาเริ่มต้นด้วยการศึกษาธรรมชาติ ภาพต้นไม้ ดอกไม้ และผลไม้ แล้วจึงพัฒนาภาพธรรมชาติมาเป็นรูปทรงในการออกแบบ และใช้ภาพเดียวกันวางไว้ทั่ว ๆ งานทั้งงานพิมพ์ งานโลหะ และงานหนัง[25]

หนังสือเล่มนี้เหมาะแก่การใช้ในการประกอบการเรียนศิลปะสำหรับผู้เริ่มศึกษา เพราะทำให้นักเรียนรู้เป็นขั้นตอน จากการเข้าใจธรรมชาติไปสู่การสร้างผลงานที่เสร็จสมบูรณ์[26]

หนังสือ Figures Decoratives

หนังสือที่มูคาจัดทำขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับหนังสือ Documents Decoratives แต่ Figures Decoratives จะเป็นการรวบรวมผลงานภาพสรีระของมนุษย์ ภายในระยะเวลาการทำงาน 4 ปี เขาได้รวบรวมกริยาท่าทางไว้มากมาย ซึ่งตีพิมพ์ควบคู่ไปด้วยรูปทรงทางเรขาคณิตอันเป็นโครงของท่าทางเหล่านั้น ภาพส่วนใหญ่จะเป็นภาพเด็ก ๆ และหญิงสาวในอิริยาบถต่าง ๆ บางภาพเป็นภาพเปลือย บางภาพมีผ้าพันร่างกายเป็นบางส่วน และบางภาพก็แต่งตัวเต็มยศ ลักษณะการวาดภาพเหล่านี้เป็นการวาดด้วยดินสอใช้ลายเส้นง่าย ๆ นักวิชาการบางท่านกล่าวว่า งานของมูคามีเสน่ห์ เย้ายวนและลึกลับ คาดว่าเป็นอิทธิพลจากเหล่านางแบบเชื้อสายสลาฟ[27]

การทำหนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนพื้นฐานที่ดีในการส่งเสริมให้มูคาประสบความสำเร็จทั้งในการเป็นนักวาดภาพประกอบและการเป็นครู เป็นหนังสือสำหรับนักออกแบบที่ต้องการแรงบันดาลใจเพื่อไปพัฒนางานของตน เพราะลายเส้นของมูคาหนังสือเป็นงานที่เหมาะแก่การศึกษาตามความเป็นจริงมากกว่าสัดส่วนในอุดมคติของร่างกาย[28]

ภาพวาด

The Slav Epic

อัลโฟนส์ มูคากับผลงาน "The Slav Epic"

"The Slav Epic" (ผลงานชิ้นเอกชิ้นหนึ่งของมูคา เป็นภาพแห่งประวัติศาสตร์ชนชาติสลาฟยุโรปตะวันออก) มีทั้งหมด 20 ภาพ วาดช่วงปี ค.ศ. 1910-1928 ก่อนที่เขาจะลงมือวาดผลงานชุดนี้ เขาก็ได้ออกศึกษาประวัติศาสตร์ด้วยการไปเยือนสถานที่ต่าง ๆ ทั้งรัสเซีย โปแลนด์ และคาบสมุทรบอลข่านเพื่อให้แน่ใจในความถูกต้อง และทยอยส่งภาพที่เสร็จไปจัดแสดงทั้งในกรุงปราก นิวยอร์ก และชิคาโก ซึ่งได้รับการตอบรับและเสียงชื่นชมจากผู้คนเป็นอย่างมาก

ด้วยผลงานชิ้นนี้เอง ที่ก่อปัญหาให้กับเขาในช่วงสุดท้ายของชีวิต เนื่องจากเป็นงานด้านประวัติศาสตร์ที่สะท้อนแนวความคิดชาตินิยมอย่างชัดเจน ซึ่งขัดต่ออำนาจทางการเมืองของลัทธิฟาสซิสต์ (มีอำนาจช่วงปี ค.ศ. 1929-1945) และเมื่อกองทัพนาซีย้ายเข้าไปอยู่ในสโลวาเกีย มูคาเป็นคนแรกที่กองทัพจับตัวไปสอบปากคำ แต่ก็ได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากเขาป่วย ทำให้เชื่อกันว่า เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบกระเทือนต่อเขามากและทำให้เขาเสียชีวิตลงในที่สุด[29]

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1939-1945) ผลงาน "The Slav Epic" ถูกนำมาเก็บซ่อนไว้เพื่อป้องกันการทำลายจากนาซี และด้วยบริบทสังคมในตอนนั้นที่นาซีมีอำนาจมาก ทำให้มูคาถูกมองว่าเป็นแค่ศิลปินชั้นรอง ไม่ได้ยกย่องใด ๆ เพราะงานของเขาเหินห่างจากแนวความคิดแบบสังคมนิยมที่เป็นแนวปฏิบัติของผู้ปกครองกรุงปรากในช่วงนี้ หลังสงครามสิ้นสุด นาซีหมดอำนาจ ผลงานชุดนี้ถึงถูกนำมาจัดแสดงในภายหลัง

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2012 ที่ผ่านมา ผลงาน "The Slav Epic" ทั้งหมด 20 ชิ้นก็ได้นำมาจัดแสดงอีกครั้งบริเวณชั้นล่างของพระราชวัง Veletržní ในกรุงปราก นิทรรศการที่จัดโดยหอศิลป์แห่งชาติ

แหล่งที่มา

WikiPedia: อัลโฟนส์ มูคา http://www.alphonse-mucha.com/ http://www.alphonse-mucha.com/works.shtml http://www.hoboctn.com/post/60623461283/mucha http://www.meaus.com/alphonse-mucha.htm http://www.rogallery.com/Mucha_Alphonse/mucha-biog... http://www.rogallery.com/Mucha_Alphonse/mucha-biog... http://www.thaitopwedding.com/Wedding/ http://www.thaitopwedding.com/wedding/%E0%B8%AD%E0... http://www.hypo-kunsthalle.de/newweb/mucha.html http://www.muchafoundation.org/